![]() | หมู่บ้านป่าตาล หรือ หมู่บ้านมหัศจรรย์ดินยิ้ม อาชีพการทำเครื่องปั้นดินเผาของชาวชุมชนบ้านป่าตาลนั้นได้รับการสืบทอดมานานกว่า 100 ปี โดยในอดีตบรรพบุรุษของชาวหมู่บ้านป่าตาลมีอาชีพทำไร่ทำนา เมื่อมีเวลาว่างชาวหมู่บ้านจะไปขุดดินเหนียวจากหัวไร่ปลายนาขึ้นมาปั้นเป็นเครื่องปั้นดินเผาในรูปของ อิฐมอญ คนโท แจกัน และกระปุกออมสิน แต่ยังไม่ได้ปั้นเป็นตุ๊กตาดินเผาดินยิ้มอย่างเช่นในปัจจุบัน หมู่บ้านป่าตาลได้รับเลือกเป็นศูนย์การเรียนรู้วิสาหกิจชุมชนเชิงคุณธรรมประจำตำบลสันผักหวาน และยังเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบของอำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่ ปี พ.ศ.2552 หมู่บ้านป่าตาลมีผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์และได้รับความนิยมอยู่หลายอย่าง ได้แก่ ตุ๊กตาดินเผาเด็กไทยหน้ายิ้มที่อยู่ในอิริยาบถต่าง ๆ เช่น ตุ๊กตาเด็กเล่นรีรีข้าวสาร ตุ๊กตาเด็กนั่งชิงช้า ตุ๊กตาเด็กยืนไหว้ ตุ๊กตาดินเผารูปสัตว์นานาชนิด นอกจากนั้นยังได้มีการสร้างสรรค์เครื่องปั้นดินเผาในรูปแบบอื่น ๆ หมู่บ้านป่าตาล หรือ หมู่บ้านมหัศจรรย์ดินยิ้ม อยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่เพียง 9 กิโลเมตร ใช้เวลาขับรถประมาณ 15 นาทีเท่านั้น โดยบ้านป่าตาล ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 4 ต.สันผักหวาน อำเภอหางดง จ.เชียงใหม่ ท่านสามารถเดินทางจากสี่แยกสนามบินโดยใช้เส้นทางเชียงใหม่-หางดง ขับผ่านเทสโก้โลตัส และบิ๊กซี เมื่อขับผ่านสี่แยกแม่เหียะให้ชะลอรถ สังเกตตุ๊กตาดินยิ้มตัวใหญ่ที่อยู่ทางซ้ายมือก่อนถึงแยกพืชสวนโลก เลี้ยวซ้ายเข้าไปในซอยประมาณ 300 เมตร จะเริ่มเห็นร้านค้าเรียงรายสองข้างทางแสดงว่าถึงหมู่บ้านแล้ว 11 มิถุนายน 2562 |
![]() |
ประวัติศาสตร์วัดช้างน้ำ วัดช้างน้ำ หมู่2 ต.สันผักหวาน อ.หางดง จ.เชียงใหม่ จากการขุดแต่งพบว่าวัดช้างน้ำ (ร้าง) มีโบราณสถานที่สำคัญดังนี้ เจดีย์และวิหาร (โบราณสถานหมายเลข 2) สร้างอยู่บนฐานเดียวกัน โดยวิหารสร้างหันหน้าไปทางทิศตะวันออก เจดีย์อยู่ด้านหลังวิหาร, อุโบสถขนาดเล็ก (โบราณสถานหมายเลข 3) ผังพื้นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า สร้างหันหน้าไปทางทิศใต้ อยู่ใกล้กันกับวิหารทางมุมตะวันออกเฉียงเหนือ วิหารและอุโบสถมีร่องรอยการก่อสร้างหรือบูรณะอย่างน้อยที่สุด 2 ครั้ง โดยการก่อสร้างหรือบูรณะครั้งหลัง ได้ยกพื้นใช้งานของโบราณสถานให้สูงขึ้นประมาณ 60-80 เซนติเมตร
โบราณสถานหมายเลข 1(อาคารไม่ทราบหน้าที่การใช้งาน) อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเจดีย์ เป็นอาคารผังพื้นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยกเก็จทางด้านหน้า 1 ครั้ง พบร่องรอยการก่อสร้างหรือบูรณะอย่างน้อย 2 ครั้ง ครั้งแรกสร้างหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ต่อมาน่าจะมีการปรับให้อาคารหันหน้าไปทางทิศเหนือโดยการก่อสร้างมุข หรือชานทางด้านเหนือเพิ่มเติม, โบราณสถานหมายเลข 4(อาคารไม่ทราบหน้าที่การใช้งาน) อยู่ทางทิศใต้ของเจดีย์ สร้างหันหน้าไปทางทิศเหนือ ลักษณะเป็นอาคารผังพื้นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีมุข หรือชานทางด้านหน้า
โบราณสถานอื่นๆ เช่น บ่อน้ำ (โบราณสถานหมายเลข 5 และ 8) ที่มีร่องรอยว่าเดิมเป็นบ่อน้ำก่ออิฐหน้าวัวเป็นรูปวงกลม และต่อมามีการก่ออิฐปากบ่อใหม่เป็นรูปสี่เหลี่ยมทับลงบนบ่อรูปวงกลม นอกจากนี้ยังพบโบราณสถานอื่นๆที่ก่อด้วยอิฐเป็นรูปสี่เหลี่ยม จัตุรัส สี่เหลี่ยมผืนผ้าอีก 3-4 แห่ง ทั่วบริเวณวัด อาคารโบราณสถานทั้งหมดอยู่ในกำแพงวัดรูปสี่เหลี่ยมเกือบจัตุรัส มีช่องประตูทางเข้าที่กึ่งกลางกำแพงทั้ง 4 ด้าน ทางทิศเหนือมีซุ้มประตูโขง รวมพื้นที่ในกำแพงวัดประมาณ 4 ไร่
การกำหนดอายุโบราณสถานในเบื้องต้น วัดช้างน้ำน่าจะสร้างในสมัยหริภุญไชยตอนปลายหรือสมัยล้านนาตอนต้น ราวพุทธศตวรรษที่ 18-19และมีการใช้งานต่อเนื่องมาถึงพุทธศตวรรษที่ 22-23และพื้นที่บริเวณนี้น่าจะมีการอยู่อาศัยของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายหรือสมัยหริภุญไชยตอนต้น 08 กุมภาพันธ์ 2562 |
![]() | ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตำบลสันผักหวาน ตั้งอยู่ในบริเวณสนามกีฬาเทศบาลตำบลสันผักหวาน โดยความร่วมมือระหว่างเทศบาลตำบลสันผักหวาน และศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบลสันผักหวาน เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียงและเป็นแหล่งถ่ายทอดเทคโนโลยีความรู้ด้านวิชาการเกษตรแก่ประชาชนและเกษตรกรในตำบล ประกอบด้วยฐานการเรียนรู้จำนวน 5 ฐาน ดังนี้ 1. ฐานการทำน้ำหมักชีวภาพ 2. ฐานการทำปุ๋ยหมักอินทรีย์ 3. ฐานเรียนรู้ด้านประมง 4. ฐานเรียนรู้ด้านพืช 5. ฐานเรียนรู้ด้านปศุสัตว์ เปิดให้เข้าเยี่ยมชมได้ทุกวันในเวลาราชการ นอกจากนี้ยังมีการฝึกอบรมและถ่ายทอดความรู้ด้านวิชาการเกษตรแก่เกษตรกรและประชาชนทั่วไปอีกด้วย 13 มิถุนายน 2559 |
ขณะนี้คุณอยู่ที่หน้า 1 / 1 (3 รายการ)